หยุดพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ด่วน! ถ้าไม่อยากถูกกวนด้วยโรคหัวใจ โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มักเป็นโรคที่คนคิดกันว่าไกลตัว ต้องเป็นผู้สูงอายุเท่านั้นถึงจะเป็นกัน แต่ในปัจจุบันเราพบว่า ไม่ใช่เพียงแค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่เสี่ยงเป็นโรคนี้ เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนหนุ่มสาวในปัจจุบันบางส่วน ที่กินไม่ดี ปาร์ตี้หมูกระทะบ่อย กินน้ำชงหวาน ไม่ออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ เครียดสะสม หรือแม้แต่การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ก็มีส่วนทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้นได้
สาเหตุของโรคหัวใจ
สาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ จะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจ แต่มักสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้และปัจจัยที่ควบคุมได้ ดังนี้
ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
พันธุกรรม : หากบุคคลในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคหัวใจ เราก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพราะโรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
อายุที่เพิ่มขึ้น : อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยหนึ่งของการเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ เพราะโรคนี้มีความสัมพันธ์กับสภาพของหลอดเลือดที่เสื่อมลงตามวัย
เพศ : เพศก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีงานวิจัยออกมาสนับสนุนให้เห็นว่า โรคหัวใจเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากเพศหญิงมีฮอร์โมนที่คอยควบคุมปริมาณไขมันในร่างกายให้อยู่ในระดับที่พอดีได้ดีกว่า แต่ทั้งนี้เพศหญิงก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เนื่องจากหากถึงวัยหมดประจำเดือนแล้วก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจมากขึ้นได้
ปัจจัยที่ควบคุมได้
รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง : ไขมันในที่นี้รวมถึงไขมันทรานส์ หรืออาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงด้วย เช่น ขาหมู หมูสามชั้น เนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ทอด แกงกะทิ ชีส เค้ก หรือเบเกอรี หากกินมากๆ และบ่อยๆ อาจส่งผลให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงหัวไม่เพียงพอ จึงเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจขาดเลือด และนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้
มีน้ำหนักเกิน หรือมีภาวะอ้วน : ในผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วน มักมีความเสี่ยงต่อการทำงานของหัวใจบกพร่องเป็นอย่างมาก เนื่องจากในคนที่มีน้ำหนักตัวเกินมักมีไขมันในเลือดสูง โอกาสที่ไขมันจะไปเกาะในหลอดเลือดและทำให้การไหลเวียนเลือดติดขัดก็มีมากขึ้นตามไปด้วย เมื่อหัวใจขาดเลือดในระดับหนึ่งหัวใจก็จะทำงานไม่ไหว จึงเป็นเหตุให้เสียชีวิตอย่างกะทันหันได้
การสูบบุหรี่ : หลายคนอาจคิดว่าการสูบบุหรี่จะส่งผลต่อปอดเพียงอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วบุหรี่ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพหัวใจด้วย เนื่องจากควันบุหรี่มีสารพิษหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดหัวใจ เช่น นิโคติน และคาร์บอนมอนอกไซด์ เมื่อร่างกายได้รับสารเหล่านี้ในปริมาณมาก จะส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจมีการหดตัวและตีบลงจนทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น และเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้
มีภาวะเครียดสะสม : ในผู้ที่มีความเครียดมากๆ หัวใจก็จะยิ่งทำงานหนักขึ้นตามไปด้วย โดยหัวใจจะเต้นเร็วและความดันโลหิตสูงขึ้นจนอาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอยู่แล้วให้เป็นหนักขึ้นได้
ไม่ออกกำลังกาย : หัวใจที่ไม่ค่อยได้ออกแรง หากมีภาวะที่ทำให้หัวใจต้องทำงานหนัก หรือหัวใจมีการสูบฉีดเลือดแรงๆ หัวใจก็จะทนต่อการทำงานหนักไม่ไหว และส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
พักผ่อนไม่เพียงพอ : ในผู้ที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน จะมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอนั้นจะทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน และส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคหัวใจ
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว การหมั่นดูแลสุขภาพของตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการป้องกันโรคและดูแลหัวใจของเราให้แข็งแรง ลดเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจตีบ ทั้งการเลือกรับประทานอาหารไขมันต่ำ การควบคุมน้ำหนัก การหมั่นออกกำลังกาย และการไม่สูบบุหรี่ รวมถึงการตรวจสุขภาพประจำปีและสุขภาพหัวใจอยู่เสมอจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพ และการเกิดโรคหัวใจในอนาคตได้ ซึ่งการตรวจสุขภาพหัวใจสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
1. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เป็นการตรวจกระแสไฟฟ้าที่กล้ามเนื้อหัวใจผลิตออกมาขณะที่หัวใจบีบตัว โดยคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะแสดงออกมาเป็นกราฟ และแพทย์จะทำการอ่านผล เพื่อวินิจฉัยสุขภาพหัวใจ
2. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) เป็นวิธีการทดสอบสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย เช่น การเดินบนลู่วิ่ง หรือการขี่จักรยานอยู่กับที่ เพื่อตรวจว่าขณะที่หัวใจต้องออกกำลังอย่างหนักนั้น คลื่นไฟฟ้าหัวใจมีความผิดปกติหรือไม่
3. การตรวจหาปริมาณแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score) คือการตรวจวัดระดับแคลเซียมหรือหินปูนที่เกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือดว่ามีมากน้อยแค่ไหน เป็นการประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคตได้ แม้จะยังไม่มีอาการแสดง
4. ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography : Echo) เป็นการตรวจวัดประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ โดยใช้วิธีการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูง เมื่อคลื่นเสียงส่งผ่านไปยังหัวใจก็จะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับมาสร้างเป็นภาพหัวใจให้เห็นบนจอภาพ ทำให้เห็นความผิดปกติที่อาจมีซ่อนอยู่ได้
5. ตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (Coronary CT Angiography : CTA) เป็นเทคโนโลยีการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีความแม่นยำสูง โดยจะให้ภาพสามมิติของหัวใจและหลอดเลือด เพื่อตรวจหาความผิดปกติต่างๆ ที่อาจมีอยู่