เมลิออยโดซิส เป็นโรคติดเชื้อรุนแรงที่พบได้ทั้งในคนและสัตว์ พบว่าประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคนี้มากที่สุดในโลก และคาดการณ์ว่ามีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นปีละ 2,000-3,000 ราย พบได้ทุกภาคของประเทศ แต่พบมากที่สุดทางภาคอีสาน
โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 40-60 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 1.4 เท่า
ผู้ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อและเป็นโรคนี้ ได้แก่ เกษตรกร และผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการสัมผัสดินและน้ำ (เช่น ทหารที่ฝึกซ้อมในภาคสนาม หรือในการทำสงคราม)
ผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักมีโรคประจำตัวร่วมด้วย โดยเฉพาะเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง รวมทั้งผู้ที่มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือใช้สตีรอยด์ติดต่อกันนาน ๆ
โรคนี้พบได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน (เดือนมิถุนายนถึงกันยายน)
โรคนี้อาจแสดงอาการได้หลายลักษณะ ทั้งเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน และเรื้อรัง บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการก็ได้ (ซึ่งเชื้อจะหลบซ่อนอยู่ในร่างกาย ต่อมาภายหลังเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ ก็จะมีอาการเกิดขึ้นได้)
นอกจากนี้ยังอาจมีอาการคล้ายโรคติดเชื้ออื่น ๆ (รวมทั้งโรคติดเชื้อร้ายแรง เช่น สแตฟีโลค็อกคัสออเรียส) วัณโรค และมะเร็งต่าง ๆ จึงได้ชื่อว่า ยอดนักเลียนแบบ
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อเมลิออยโดซิส ซึ่งเป็นแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า เบอร์คอลเดเรียสูโดมัลเลไอ (Burkholderia pseudomallei) เชื้ออาศัยอยู่ในดินและน้ำ ส่วนใหญ่เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีบาดแผล (เช่น บาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการทำงานในท้องไร่ ท้องนา บาดแผลจากอุบัติเหตุ เช่น รถชน รถคว่ำ บาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก บาดแผลจากสงคราม เป็นต้น) โดยการสัมผัสดินโคลน หรือน้ำที่มีเชื้อโดยตรง
นอกจากนี้ อาจติดต่อทางการหายใจ (เช่น การสูดหายใจเอาเชื้อเข้าปอด การสำลักน้ำเข้าปอดในผู้ป่วยที่จมน้ำ เป็นต้น) ทางการกิน (เช่น การดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ) การติดจากผู้ป่วย (คนสู่คน) โดยตรงซึ่งพบได้น้อย การติดเชื้อในห้องปฏิบัติการ และการติดเชื้อในโรงพยาบาล
เชื้อเมลิออยโดซิส เมื่อเข้าสู่ร่างกายสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อแทบทุกระบบของร่างกาย ซึ่งพบบ่อยที่สุดคือ กระแสเลือด รองลงมาคือ ปอด ผิวหนัง และเนื้อเยื่อตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อที่ช่องท้อง (ตับ ม้าม ไต ทางเดินปัสสาวะ ลำไส้ ตับอ่อน ต่อมหมวกไต เยื่อบุช่องท้อง) คอหอยและทอนซิล ต่อมน้ำลายพาโรติด ต่อมน้ำเหลือง กล้ามเนื้อ ข้อและกระดูก สมอง เป็นต้น
การติดเชื้อเมลิออยโดซิส แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ การติดเชื้อเฉพาะที่ กับการติดเชื้อในกระแสเลือด (ซึ่งยังแบ่งย่อยเป็นแบบแพร่กระจาย และแบบไม่แพร่กระจาย)
อาการ
โรคนี้มีอาการแสดงได้หลายลักษณะ
1. ถ้าเป็นแบบเฉียบพลัน มักจะมีไข้สูง หนาวสั่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายโรคติดเชื้ออื่น ๆ (เช่น มาลาเรีย ไทฟอยด์ สครับไทฟัส เล็ปโตสไปโรซิส) และมักมีอาการของปอดอักเสบ หรือเป็นฝีกระจายไปทั่วปอด คล้ายการติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัสออเรียส (มีอาการไอ เจ็บหน้าอก หายใจหอบ) บางรายอาจมีการติดเชื้อของตับ (ปวดชายโครงขวา ตับโต ดีซ่าน) ม้าม (ปวดชายโครงซ้าย ม้ามโต) ไต (เป็นฝี) ผิวหนัง (ขึ้นเป็นตุ่มนูน ตุ่มหนอง เป็นฝี เป็นต้น) หรืออวัยวะอื่น ๆ ร่วมด้วย
ในรายที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบแพร่กระจาย มักมีการอักเสบของอวัยวะหลายแห่งพร้อมกัน อาการจะเป็นมากขึ้นรวดเร็วภายใน 2-3 วัน จนเกิดภาวะช็อกจากโลหิตเป็นพิษ และเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง
ในรายที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบไม่แพร่กระจาย มักจะมีอาการไข้ และอาจมีการติดเชื้อของปอดและอวัยวะอื่นร่วมด้วยเพียง 1-2 แห่ง บางรายอาจไม่พบตำแหน่งติดเชื้อชัดเจน อาการมักจะไม่รุนแรงและมีการเปลี่ยนแปลงช้า โอกาสที่เกิดภาวะช็อกค่อนข้างต่ำ และมีอัตราตายต่ำ แต่บางรายอาจกลายเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบแพร่กระจายในเวลาต่อมาก็ได้
2. ในรายที่มีการติดเชื้อเฉพาะที่ มักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป เรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี ผู้ป่วยอาจมีไข้ต่ำหรือไม่มีไข้ก็ได้ มักมีอาการน้ำหนักลด และมีอาการแสดงตามความผิดปกติของอวัยวะที่ติดเชื้อ (อาจเกิดเพียง 1 แห่ง หรือพร้อมกันหลายแห่ง) เช่น
ปอด มีอาการไอเรื้อรัง น้ำหนักลด คล้ายวัณโรคปอด หรือมะเร็งปอด
ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอ มีอาการต่อมน้ำเหลืองข้างคอโตเรื้อรัง (อาจมีอาการปวดและแดงร้อนหรือไม่ก็ได้) คล้ายวัณโรคต่อมน้ำเหลือง หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ผิวหนัง มีรอยโรคได้หลายแบบ อาจเริ่มด้วยก้อนนูนขนาด 1-2 ซม. อาจมีอาการเจ็บ แต่ไม่มีอาการแดงร้อน (ทำให้ไม่คิดถึงการอักเสบ) หรืออาจมีอาการของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ การติดเชื้อของบาดแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือแผลอักเสบ หรือเป็นฝีแล้วแตกออกเป็นแผล (อาจกลายเป็นแผลเรื้อรังเป็นสัปดาห์ ๆ ถึง 10 ปี) รอยโรคที่ผิวหนังอาจเกิดขึ้นพร้อมกันหลายแห่ง และเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของผิวกาย บางรายอาจมีภาวะโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อนได้
ตับ เป็นฝี เป็นก้อนบวมคลำได้ที่ใต้ชายโครงขวา
ม้าม เป็นฝี เป็นก้อนบวมคลำได้ที่ใต้ชายโครงซ้าย
คอหอยและทอนซิล มีอาการไข้ เจ็บคอ ทอนซิลบวมโต เป็นหนองแบบทอนซิลอักเสบ อาจมีประวัติว่าได้ยารักษาทอนซิลอักเสบมา 1-2 สัปดาห์แล้วยังไม่ดีขึ้น
กล้ามเนื้อและกระดูก พบกล้ามเนื้ออักเสบเป็นหนอง (pyomyositis) กระดูกอักเสบเป็นหนอง (osteomyelitis) ข้ออักเสบ (ข้อบวมแดงร้อน)
ทางเดินปัสสาวะ พบทางเดินปัสสาวะอักเสบ ฝีไต ฝีรอบไต (perirenal abscess)
อื่น ๆ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีสมอง ก้านสมองอักเสบ (brain stem encephalitis) ฝีลำไส้ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ฝีต่อมหมวกไต ฝีตับอ่อน เป็นต้น
ข้อมูลโรค: เมลิออยโดซิส (Melioidosis) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions