ถวาย ดอกบัวอบแห้ง เข้าโบสถ์ เที่ยววัดท่าไทร เที่ยวพังงา วัดริมทะเล Unseen ภาคใต้ เที่ยวพังงา เที่ยววัดท่าไทร จะเรียกว่า เป็น Unseen ของพังงา ก็ได้นะ เพราะความสวยงามของโบสถ์ไม้สัก ความเรียบง่ายของวัด ความงดงามของลวดลายไม้ในโบสถ์ไม้สัก ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมทะเล ผนวกกับเสียงเกลียวคลื่นกระทบฝั่ง และต้นสนใหญ่ริมทะเลที่ปลิวไสวตามแนวลมทะเล เป็นบรรยากาศที่สวยงาม สงบ และสบายใจ ที่นี่คือ วัดท่าไทร
เที่ยวพังงา เที่ยวัดเทสก์ธรรมนาวา (วัดท่าไทร)
ได้มีโอกาสเดินทางมาที่วัดท่าไทร หรือวัดเทศก์ธรรมนาวา ที่จังหวัดพังงา ได้ถวาย ดอกบัวอบแห้ง เป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า คู่หนึ่ง โดยตั้งไว้ที่โบสถ์วัดท่าไทร และได้ถวายสังคทาน และทำบุญเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สืบไป
วัดเทสก์ธรรมนาวา หรือ “วัดท่าไทร” ตั้งอยู่ที่บ้านท่าแตง ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เป็นวัดริมหาดชายทะเลท่าไทร เป็นวัดที่สร้างโบสถ์ไม้สัก ซึ่งเป็นไม้สักสวยงาม อาคารทรงไทย รวมถึงยังมีการแกะสลักอย่างอ่อนช้อย งดงาม ปราณีต แรงบันดาลใจในการตกแต่งโบสถ์นั้นได้มาจากพระอุโบสถของ พระอรัญวาสี ที่จังหวัดหนองคาย
“พระอุโบสถไม้สัก” มีขนาด กว้าง 8.30 เมตร ยาว 23.10 เมตร สูง 13.54 เมตร การตกแต่งภายในโบสถ์ จะมีไม้สักที่มีผนังเป็นฝาปะกน ลวดลายไม้สักงดงาม ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ที่แกะสลักขึ้นมาจากหินหยกขาว เป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ซึ่งมีขนาดหน้าตักจะกว้าง 55 นิ้ว สูง 2 เมตร และบริเวณของช่อฟ้าของโบสถ์เป็นฝีมือช่างแกะสลัก ชาวเชียงใหม่ จึงแฝงได้ด้วยลักษณะความงามแบบวัดทางเหนือผสมผสานอย่างลงตัว
ส่วนบริเวณรอบโบสถ์ไม้สักมีกำแพงแก้วเป็นไม้ ใบเสมาแกะสลักจากหินหยกขาวมีรูปพระพุทธรูปอยู่ตรงกลาง ตรงบันไดทางเข้าโบสถ์ประดับเสาอโศกสีทองอร่าม
โบสถ์ไม้สักวัดท่าไทร ประดับประดาด้วยงานไม้แกะสลัก ฝีมือช่างจากอยุธยาอันประณีต อ่อนช้อย ทั้งตามบริเวณบานประตู หน้าต่าง หน้าบัน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ บานหน้าต่าง โดดเด่นด้วยงานแกะสลัก ปรมัตถบารมี 10 ซึ่งเป็นการบำเพ็ญบารมีชั้นสูง การเสียสละชีวิตของตนเองเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
บริเวณรอบๆวัด สะอาดตา อีกทั้งยังสามารถเห็นวิวฝั่งทะเลได้ ใครจะเชื่อว่าวัดแห่งนี้ เดิมที่ดินที่สร้างวัดนี้เป็น “ป่าช้า” มาก่อน และมีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับความเป็นมาของวัดท่าไทร
ประวัติวัดเทสก์ธรรมนาวา หรือ “วัดท่าไทร”
ในอดีต พื้นที่ของวัดแห่งนี้ เคยเป็นป่ามาก่อน เรียกว่า “ป่าท่าไทร” และเป็นสุสานที่ฝังศพ หรือ “ป่าช้า” มาก่อน เนื่องจากว่า ในอดีตป่าท่าไทรแห่งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ และละแวกใกล้เคียง เมื่อมีคนตายก็จะนำศพล่องเรือมาเผา หรือฝังที่ป่าท่าไทรแห่งนี้ ชาวบ้านเรียกขานว่า “อ่าวเหรว” หรือหมายถึง แอ่งน้ำในป่าช้า
โดยแนวพื้นที่หาดชายทะเลท่าไทร เป็นแนวป่าสนชายฝั่งทะเล มีชายหาดหน้าหาดยาวไกล เป็นหาดที่สงบ สะอาด ทำให้มีเต่าทะเล ขึ้นมาวางไข่ที่หาดแห่งนี้เป็นประจำ ประมาณในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เดือนเมษายน
สมัยก่อนนั้น จะมีการทำเหมืองแร่ ในจังหวัดพังงา และมีเรื่องเล่าว่า พื้นที่โดยรอบของป่าท่าไทร สามารถทำเหมืองแร่ได้หมด ยกเว้นที่ป่าท่าไทร ที่ไม่มีใครสามารถจะเข้ามาทำเหมืองแร่ได้ เป็นเรื่องที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ แต่ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่าเป็นพื้นที่อาถรรพ์ หากใครย่ามกายเข้ามา ก็จะป่วย เสียสติ หรือมีอันเป็นไป จึงเป็นที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลายถึงเหตุอาถรรพ์นั้น
จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2533 ได้มีพระชัยพล อาสโภ และพระอานนท์ พระผู้ติดตาม ท่านทั้งสอง ได้เดินทางเข้ามาบำเพ็ญศิลภาวนา และเห็นว่า พื้นที่ป่าท่าไทรมีความเงียบสงบ เหมาะต่อการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก ด้วยแรงศรัทธา ของคนในชุมชนและในพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อรู้ว่ามีพระมาปฏิบัติธรรม จึงได้ร่วมใจกันสร้างเป็นที่พักสงฆ์ สร้างศาลามุงจาก สร้างกุฏิให้พระจำพรรษา
ในปี พ.ศ. 2534 พระอาจารย์เสนอ วัดถ้ำทะเลหอย จังหวัดกระบี่ ได้ยื่นเรื่องขอพื้นที่จากอธิบดีกรมป่าไม้ในสมัยนั้น ก็คือนายผ่อง เล่งอี้ ซึ่งท่านก็ได้อนุมัติให้ใช้พื้นที่ตามโครงการ ศูนย์สาธิตพระพุทธศาสนากับป่าไม้ ภายใต้การกำกับดูแลของวัดประชาธิการาม
ในปี พ.ศ. 2537 แหล่งปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ได้ก่อตั้งเป็นสำนักสงฆ์ โดยได้รับการอนุญาตจากทางราชการ ในเรื่องการขอใช้พื้นที่เพื่อเป็นศาสนสถานในการประกอบศาสนกิจ และบำเพ็ญกุศลของชาวบ้านในหมู่บ้านท่าแตง และละแวกใกล้เคียง และเป็นสถานที่ในการปลูกฝัง ให้คนในชุมชน ยึดมั่นในความดีงาม และปฏิบัติธรรม ให้เข้าถึงธรรมะในจิตใจเรื่อยมา
แต่ทว่า หลังจากนั้นสำนักสงฆ์ท่าไทร ได้ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่มีพระภิกษุมาพำนักบวชอยู่เลย และสำนักสงฆ์แห่งนี้ ก็ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2546 ได้นิมนต์ “พระอาจารย์วินัย รัตนวณฺโณ” มาพำนักที่วัดท่าไทรนี้ ซึ่งพระอาจารย์วินัย ท่านเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้อยู่ปฏิบัติอาจารริยวัตรกับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย มาเป็นเวลานาน 16 ปี จวบตนหลวงปู่เทสก์ท่านละสังขาร
พระอาจารย์วินัย เมื่อมาพำนักปฏิบัติธรรมที่สำนักสงฆ์ท่าไทร ทำให้เกิดแรงศรัทธาจากพุทธศาสนิกชน ได้มาก่อสร้างเสนาสนะ พร้อมอบรมปฏิบัติธรรมในที่ดินสาธารณะประโยชน์หรือป่าช้าเดิม และพระอาจารย์วินัยได้ดำเนินการก่อตั้งวัดขึ้น ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดจากรมการศาสนาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
วัดท่าไทร ได้รับอนุญาตให้ตั้งวัด ในพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ได้รับประทานนามวัดจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ตามประกาศในหนังสือที่พิเศษ/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๑ นามว่า “วัดเทสก์ธรรมนาวา” พร้อมกันนี้ พระอาจารย์วินัยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกแห่งวัดเทสก์ธรรมนาวา
พระอาจารย์วินัย ได้ดำเนินการขอรับ พระราชทานวิสุงคามสีมา หรือ เขตที่พระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่สร้างอุโบสถ โดยได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2557